หนึ่งในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตายสำหรับก้าวแรกสู่ชีวิตการทำงานของคนจบใหม่ คงหนีไม่พ้นการ “สัมภาษณ์งาน” ที่จะต้องทำให้เจ้านายในอนาคตของเราประทับใจตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้เจอกัน
แน่นอนว่า คำถามยอดฮิตอย่าง “คุณเคยทำอะไรมาบ้าง?” หรือ “อะไรคือผลงานที่คุณภาคภูมิใจที่ได้ทำขณะเรียน?” นั้นต้องอยู่ในเช็คลิสต์คำถามที่ต้องเตรียมพร้อม เก็งข้อสอบกันมาตั้งแต่อยู่บ้านแล้วว่า ข้อนี้เจอชัวร์ๆ แต่ถ้าหากว่า ต้องมาเผชิญกับคำถามแหวกโผอย่าง
“ไหน ลองเล่าถึงช่วงเวลาที่คุณเคยล้มเหลวหน่อย”
…..ยังไงดีล่ะ จะตอบอย่างไรให้ดูดีแบบไม่โกหก รวมถึงทำให้บริษัทมั่นใจ ไม่ต้องกลัวว่า ถ้ารับเราเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดปัญหามากมายในภายหลัง เส้นแบ่งบางๆ แบบนี้ต้องเลือกตอบแบบไหนถึงจะโอเคที่สุด โอ๊ยยย.....
ไม่ต้องเครียดค่ะ วันนี้เรามี 4 ขั้นตอนในการรับมือกับคำถามนี้มาแชร์ให้ทุกคนได้ฟังกัน
สูดหายใจเข้าลึกๆ ตั้งสติให้มั่น แล้วทำตามนี้เลยค่ะ
เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะจุดชี้ขาดสำคัญของคำถามนี้ คือ การเลือกเรื่องค่ะ แนะนำให้เลือกเรื่องจริง มาเล่าให้เขาฟัง จะดีที่สุด มุกแบบว่า “ได้เกรด 3 วิชาเลข” หรือ “จีบสาว 3 คนไม่ติดเลย” ควรหลีกเลี่ยงให้ไกล อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นไปได้ เราก็ควรเลือกเรื่องที่ห่างๆจากตำแหน่งที่เรากำลังสมัครค่ะ
แต่ถ้าหากเขาชี้เฉพาะมาเลยว่า ขอที่เกี่ยวกับเรื่องงาน ทริคคือ เลือกความล้มเหลวจากบางเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมานานซักพักแล้ว และเลือกเรื่องที่ไม่ได้เกิดจากความรับผิดชอบของเราแบบตรงๆค่ะ
หนึ่งจุดที่อยากจะย้ำคือ เราไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องราวที่ “ทุกสิ่ง” หายนะล้มเหลว เล่าแค่เรื่องที่มี “บางสิ่ง” ล้มเหลวก็พอค่ะ เพราะอย่างลืมว่า เราแค่เอามาตอบคำถามเขา ไม่ใช่สารภาพบาปค่ะ
หลังจากเลือกเรื่องได้แล้ว ให้เรานิยามความล้มเหลวในมุมมองของเราต่อเรื่องนั้น
นี่คือจุดที่จะทำให้เราได้เปรียบคนตั้งคำถามค่ะ เพราะเมื่อเราได้นิยามความล้มเหลวในมุมมองของเราแล้ว เรื่องที่เลือกมาเล่าอาจจะไม่ต้องเป็นความผิดพลาดแจ่มแจ้งแดงแจ๋ก็ได้ เพราะเรายืนยันไปแล้วว่า นี่คือสิ่งที่เราคิดว่ามันคือความล้มเหลวในความคิดเรานะ
อ่านแล้วอาจจะยังไม่เห็นภาพ เรามาดูตัวอย่างกันค่ะ
“สำหรับดิฉัน ความล้มเหลวคือการไม่สามารถทำตามความคาดหวังของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงความคาดหวังของตัวเอง”
“ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ความล้มเหลวในสายตาดิฉัน คือ การที่ดิฉันได้เจอกับบางสิ่งที่ดิฉันไม่ได้คาดคิด เพราะหน้าที่ของดิฉันคือการที่ดิฉันต้องรู้ตลอดเวลาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในทีมและการทำงาน”
“ดิฉันคิดว่าความล้มเหลวไม่ได้มีเพียงแค่การไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่สำหรับดิฉัน การบรรลุเป้าหมายที่ต้องใช้เวลาในการทำงาน หรือ ใช้ทรัพยากรมากกว่าที่ได้รับมอบหมายมา ก็ถือว่าเป็นการล้มเหลวเช่นกัน”
จากตัวอย่างจะเห็นได้ชัดเลยค่ะว่า แค่เราปรับวิธีการพูดเพียงนิดเดียว คำถามข้อนี้ก็จะง่ายขึ้นมาทันทีเลยค่ะ
สั้น-กระชับ-ตรงประเด็น ท่องสามคำนี้ไว้ให้ขึ้นใจเลยค่ะ
หลังจากบอกเขาแล้วว่า “ความล้มเหลวในความคิดฉันคือแบบนี้นะ” ก็ถึงเวลาเล่าเรื่องราวของเราแล้วค่ะ ข้อสำคัญคือ อย่าเสียเวลาในการอารัมภบทเยอะ ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้อยากรู้หรอกค่ะว่าชีวิตเราดราม่า เคยผ่านอะไรมามากขนาดไหน เขาแค่อยากรู้แค่ว่า เรารับมือปัญหานั้นได้อย่างไร ดังนั้น เล่าให้เข้าประเด็นเลยค่ะ
เริ่มต้นด้วยว่า มันเกิดอะไรขึ้น อธิบายว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ จากนั้นเข้าเรื่องให้เร็วที่สุดว่า เรารับมือและตั้งใจจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร
วิธีการเล่าก็ต้องระวังค่ะ เล่าออกมาด้วยความจริงใจ ไม่ต้องกังวลว่าเรากำลังเล่าเรื่องที่เราเฟล เพราะว่าเขาถามถึงความล้มเหลวของเราอยู่ ดังนั้น การพยายามยกแม่น้ำทั้งห้า แถว่าจริงๆแล้วมันก็โอเคนะ ไม่ได้แย่อย่างที่คิด ไปๆมาๆ บางทีอาจจะทำให้ผู้สัมภาษณ์ไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดในตอนแรกก็เป็นได้ค่ะ
ในตอนท้าย ถึงเวลาสรุปแล้วว่า หลังจากที่คุณได้เจอกับผลลัพธ์ของความผิดพลาดทั้งหมดที่เล่ามา คุณได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลองเล่าว่าทำไมคุณถึงคิดว่าปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้ และคุณเอาสิ่งที่ได้รับมานี้มาปรับใช้กับตัวเองต่อไปในอนาคตอย่างไรได้บ้าง
ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ
“ถ้าหากตอนนั้น ดิฉันรีบสื่อสารกับเพื่อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ ดิฉันก็คงสามารถทำงานกลุ่มตามที่ทุกคนคาดหวังให้สำเร็จได้ แต่ดิฉันกลับปล่อยปัญหานั้นผ่านเลยไป จนสุดท้าย มันทำให้ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนในคณะต้องพังลง นับแต่นั้นเป็นต้นมา ดิฉันจะบอกกับทุกคนอย่างตรงไปตรงมาถึงสถานะของงานที่ทำร่วมกันอยู่ แม้ว่าบางครั้งอาจจะเป็นการสนทนาที่น่าลำบากใจ แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ”
การพูดถึงเรื่องๆแย่ๆ ในชีวิตของเราออกมาให้ดูดีนั้นยากกว่าที่คิด แต่ไม่ยากเกินไปหากเรามีการเตรียมตัวที่ดี ทริคสำคัญของการตอบคำถามนี้คือ การตั้งกรอบว่าความล้มเหลวในสายตาเราคืออะไร และ การจบเรื่องด้วยสิ่งสำคัญที่เราได้รับจากประสบการณ์นั้น เพียงเท่านี้ เราก็สามารถรับมือกับการต้องเผชิญคำถามเกี่ยวกับความล้มเหลวได้อย่างอยู่หมัดค่ะ